จากเหตุการณ์ COVID-19 มีการ Lock down และมีข่าวคนเจ็บ คนตายทั่วโลกเป็นจำนวนล้าน เกิดภาวะว่างงาน ขาดเงิน ขาดรายได้ แบบฉับพลัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คนรุ่นปัจจุบัน ไม่เคยประสบมาก่อน ถือเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงตั้งแต่ปานกลางถึงมากตามประสบการณ์ของแต่ละคน ซึ่งทำให้เกิดอาการทางจิตสังคมหลายแบบ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า แต่มีโรคหนึ่ง ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญอย่างรุนแรง ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า PTSD (Post-traumatic stress disorder)

โรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-traumatic stress disorder; PTSD)

หมายถึง ความผิดปกติทางจิตใจภายหลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประสบเหตุโดยตรง หรือเป็นพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดกับคนอื่น หรือเรียนรู้เหตุการณ์ความรุนแรงหรืออุบัติเหตุที่เกิดกับบุคคลใกล้ชิด หรือรับรู้รายละเอียดของเหตุการณ์ที่รุนแรงนั้นซ้ำๆ จนทำให้เกิดความกลัว (Fear) ความหวาดหวั่นอย่างรุนแรง (Horror) และรู้สึกหมดหนทางช่วยเหลือ (Helplessness) และรบกวนการดำเนินชีวิต การเรียนหรือการทำงาน

อาจพบได้หลังประสบเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ เช่น ภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุ การถูกทำร้าย ทางร่างกายหรือทางเพศ การถูกข่มขืน ถูกทรมาน ในกรณี COVID-19 ซึ่งทำให้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป ทั้งการทำงาน อาชีพ รายได้ แบบทันทีทันใด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรง โดยอาจเป็นคนที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือเป็นพยานรู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดกับผู้อื่น หรือได้รับรู้เหตุการณ์ที่เกิดกับคนใกล้ตัวก็ได้

โรคนี้มีอาการมากจนรบกวนการดำเนินชีวิต และการทำงาน ทำให้ประสิทธิภาพการปรับตัวลดลงและเกิดความสูญเสียบุคคลที่มีศักยภาพ ความสูญเสียด้านจิตใจโดยทั่วไปยากจะฟื้นตัวได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภายนอก และการฟื้นตัวอาจใช้เวลานาน

หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีผู้ที่รอดจากการประสบเหตุการณ์ร้ายแรงมีโอกาสเกิดโรคทางจิตเวชอื่น ได้แก่ โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder), โรค Panic disorder, โรค Generalized anxiety disorder และโรคการใช้สารเสพติด (Substance use disorder) หรือสุรา เป็นต้น ถ้าให้การช่วยเหลือไม่ถูกต้องอาจกระตุ้นให้เกิดอาการ เป็นการซ้ำเติมทางจิตใจ (Re-traumatization) แพทย์จึงควรมีความรู้ เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ประสบเหตุการณ์ร้ายแรงและส่งต่อผู้ป่วย

อาการและอาการแสดง

หลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรง ถ้ามีอาการ 3 วันขึ้นไปแต่หายไปภายใน 1 เดือนแรกจัดเป็นโรคเครียดเฉียบพลัน (Acute stress disorder; ASD) แต่ถ้านานกว่า 1 เดือนแล้วยังมีอาการอยู่ หรืออาการเกิดหลังจากนั้นจัดเป็นโรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-traumatic stress disorder; PTSD) โดยอาการที่สำคัญมีดังนี้

  1. รู้สึกเหมือนเผชิญเหตุการณ์นั้นอีก (Re-experience) คิดถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ ตกใจขึ้นมาเองเหมือนตนเองอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีกเมื่อมีสิ่งเร้าเพียงเล็กน้อย เช่น เสียงดัง ฝันร้ายว่าอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีก รู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้นขึ้นมาเอง และตกใจกลัวรุนแรงโดยอาจไม่มีเหตุกระตุ้น (Flashback) แล้วเกิดอาการทางร่างกายที่แสดงความวิตกกังวล เช่น ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออกมาก สับสน อาการอาจเกิดเป็นพักๆ ทำให้รู้สึกว่าสูญเสียการควบคุมตน ทุกข์ทรมานใจมาก กลัวว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นอีก จึงพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือสถานที่ที่ทำให้เกิดอาการ

  2. พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์นั้น (Avoidance) กลัวสถานที่หรือสถานการณ์ที่ประสบ หวาดกลัวสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และหลีกเลี่ยงไม่กล้าเผชิญกับสิ่งเร้านั้นๆ อาการกลัวนี้ทำให้ผู้ประสบภัยหลีกเลี่ยงการคิดถึง หรือพูดถึงเหตุการณ์นั้น

  3. มีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ความคิดและการรับรู้ เช่น อาการเมินเฉย แปลกแยก ไร้อารมณ์ (Dissociation)รู้สึกสิ่งแวดล้อมแปลกไป (Derealization) หรือตนเองแปลกไปจากเดิม (Depersonalization) จำเหตุการณ์สำคัญนั้นไม่ได้ (Dissociative amnesia) ไม่รับรู้สิ่งรอบตัว

  4. มีอาการตื่นตัวมากเกินปกติ (Hyperarousal) กลัวเหตุการณ์นั้น วิตกกังวลง่าย กังวล แม้แต่เรื่องเล็กน้อย ตกใจง่ายจากเสียงดัง ขาดสมาธิ ย้ำคิดย้ำทำ คิดวนเวียนเรื่องที่วิตกกังวลซ้ำๆ อาจมีอารมณ์แปรปรวน ร้องไห้ ไม่สามารถควบคุมตนเอง ความกังวลอาจเกิดจากเหตุการณ์ที่เกิดตามมา เช่น การพลัดหลง การเผชิญสถานการณ์ตามลำพัง ความกลัวจากการสูญเสีย การค้นหาผู้รอดชีวิต ความกลัวต่อสภาพสิ่งแวดล้อมที่กำลังวุ่นวายสับสน หรือการได้รับข้อมูลข่าวสารที่น่ากลัวจากเหตุการณ์นั้นอีก




เครดิตรูปภาพ: Caio Triana